Thursday, June 19, 2008

ประเด็นทางจริยธรรมใน CL

ไฟล์เสียงจากการบรรยายของ นพ. ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล รศ. ดร. วิทยา กุลสมบูรณ์ และ รศ. ดร. โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์ เรื่อง "ประเด็นทางจริยธรรมของการใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร" ซึ่งได้บรรยายไปเมื่อวันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2551 ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น สามารถรับฟังได้ที่ http://www.stc.arts.chula.ac.th/iweb/ แล้วคลิกที่คำว่า Podcast

Tuesday, June 17, 2008

ข้อมูลส่วนบุคคลกับความเสี่ยงในยุครัฐบาลอิเล็กทรอนิกส

โครงการการสัมมนาเรื่อง


“ข้อมูลส่วนบุคคลกับความเสี่ยงในยุครัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์”

วันพุธที่ ๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๑ เวลา ๑๓.๐๐ ถึง ๑๖.๓๐ น.

ห้อง ๑๐๕ อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


จัดโดย
กลุ่มวิจัยจริยธรรมและมิติทางสังคมของเทคโนโลยีสารสนเทศ
ศูนย์จริยธรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หลักการและเหตุผลและวัตถุประสงค์

เทคโนโลยีสารสนเทศ (ไอที) เป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ สังคม และการเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมสารสนเทศ (Information Society) ภาครัฐและภาคเอกชนใช้ไอทีในการรื้อปรับระบบและกระบวนการผลิต ปฏิรูปองค์การเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก เทคโนโลยีสารสนเทศเช่นระบบคอมพิวเตอร์ ระบบเครือข่าย อินเทอร์เน็ต ตลอดจนโครงข่ายโทรคมนาคมผ่านดาวเทียม ทำให้การติดต่อสื่อสาร การแลกเปลี่ยนข้อมูล และการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เป็นไปอย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพและลดต้นทุน ภาครัฐจึงผลักดันนโยบายรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์และสังคมอิเล็กทรอนิกส์ (e-Society) โดยใช้บัตรประชาชนแบบเอนกประสงค์ หรือบัตรสมาร์ทการ์ดเป็นกุญแจสำคัญในการให้ประชาชนเข้าถึงบริการของภาครัฐ
ทั้งภาคเอกชนและภาครัฐต่างเก็บข้อมูลของลูกค้าและประชาชนในฐานข้อมูล (databases) เพื่อการวิเคราะห์ประมวล เช่น องค์กรธุรกิจสามารถใช้ฐานข้อมูลเพื่อการวิจัยทางตลาดและติดตามการเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรมของผู้บริโภค ในขณะที่ภาครัฐสามารถใช้ฐานข้อมูลในการประมาณการจัดเก็บภาษีและการวางแผนงบประมาณ การจัดการเลือกตั้ง การจัดการแรงงานต่างด้าว ตลอดจนการติดตามอาชญากรข้ามชาติ เป็นต้น การจัดทำบัตรประชาชนแบบสมาร์ทการ์ดจะช่วยเอื้อให้ภาครัฐสามารถประมวลข้อมูลจากฐานข้อมูลที่กระจัดกระจายตามองค์กรต่างๆ เพื่อให้เกิดการบูรณาการและเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานตามนโยบาย บัตรประชาชนแบบสมาร์ทการ์ดมีไมโครชิปบรรจุข้อมูลส่วนบุคคล เช่น ข้อมูลบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน ทะเบียนสมรส/ใบหย่า ข้อมูลสวัสดิการสังคม ข้อมูลภาษี ใบอนุญาตขับขี่ ข้อมูลด้านสุขภาพ เช่น หมู่เลือด โรคประจำตัว ประวัติสุขภาพ ตลอดจนข้อมูลการเป็นหนี้ธนาคาร เป็นต้น ประชาชนต้องใช้บัตรสมาร์ทการ์ดในการยืนยันตน เพื่อใช้บริการภาครัฐ
อย่างไรก็ตามการบรรจุข้อมูลส่วนบุคคลจำนวนมากบนบัตรประชาชนสมาร์ทการ์ด ทำให้เกิดความเสี่ยงในหลายๆด้าน นักวิชาการและประชาชนจำนวนมากไม่มีความมั่นใจในระบบความมั่นคงของฐานข้อมูล และมีความกังวลในความเสี่ยงในกรณีการขโมยข้อมูลหรือการสูญหายของบัตรประชาชน นอกจากนี้การบรรจุข้อมูลหมู่เลือดและโรคประจำตัวบนบัตรประชาชน อาจทำให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน และละเมิดเสรีภาพในกรณีของผู้ติดเชื้อเอดส์ รัฐยังไม่มีการประกาศใช้กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Data Protection Act) และไม่มีการคุ้มครองสิทธิความเป็นส่วนตัว (privacy rights) ทำให้เกิดความเสี่ยงในด้านอื่นๆ ตามมา เช่น ในกรณีข้อมูลส่วนบุคคลถูกทำลาย ดัดแปลง หรือถูกขโมย โดยผู้ที่ไม่มีสิทธิเข้าถึงฐานข้อมูล โดยเฉพาะข้อมูลลายนิ้วมือและข้อมูลพันธุกรรม ซึ่งเป็นข้อมูลที่มีค่ามากในทางอาชญากรรม
อันตรายจากความเสี่ยงของการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลเป็นเรื่องใหม่ และประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่มีความตื่นตัวและไม่เข้าใจถึงความเสียหายและผลกระทบในทางลบของการมีฐานข้อมูลประชาชน และบัตรประชาชนแบบสมาร์ทการ์ด ภาครัฐเองก็ไม่มีความพร้อมในการให้หลักประกันของความมั่นคงของฐานข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชน ความล้มเหลวของการประมูลบัตรประชาชนเอนกประสงค์ในอดีต สะท้อนปัญหาของระบบควมมั่นคงของไมโครชิป และการขาดการประสานงานที่ดีของหน่วยงานภาครัฐ การใช้บัตรประชาชนหรือสมาร์ทการ์ดอย่างแพร่หลายในอนาคตเป็นการปูพื้นฐานให้กับการใช้บัตรสมาร์ทการ์ดเพียงใบเดียว ในการทำธุรกรรมทุกอย่าง ในการเข้าถึงบริการภาครัฐและภาคธุรกิจเอกชน ซึ่งอาจนำไปสู่ความเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัว (privacy rights) และการละเมิดสิทธิเสรีภาพกรณีของผลกระทบจากอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ หรือความเสียหายของระบบฐานข้อมูล
ดังนั้นการจัดสัมมนาในประเด็น ข้อมูลส่วนบุคคลกับความเสี่ยงในยุครัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ จึงได้จัดขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ คือ

  1. เพื่อให้เกิดความตื่นตัวในเรื่องความสำคัญของข้อมูลส่วนบุคคลและผลกระทบจากความเสี่ยง
  2. เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลส่วนบุคคล ผลกระทบของบัตรสมาร์ทการ์ด และการขาดแคลนการคุ้มครองทางกฎหมาย
  3. เพื่อให้เกิดความเข้าใจถึงความเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน และสิทธิเสรีภาพ และอิสรภาพของประชาชน ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย


ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการสัมมนา

  1. ทำให้เกิดความตระหนักและเข้าใจถึงความจำเป็นของการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
  2. ทำให้เกิดความเข้าใจความเสี่ยงในมิติต่างๆ ของฐานข้อมูลประชาชน และบัตรประชาชนแบบสมาร์ทการ์ด
  3. ทำให้เกิดแนวความคิดหลากหลายในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล


กำหนดการ

๑๓.๐๐ – ๑๓.๐๕ กล่าวรายงาน
รศ. ดร. โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์ ผู้ประสานงานกลุ่มวิจัย

๑๓.๐๕ – ๑๓.๑๐ กล่าวเปิดงาน
ศ. ดร. ธีระพันธุ์ เหลืองทองคำ คณบดีคณะอักษรศาสตร์

๑๓.๑๐ – ๑๕.๐๐ เสวนาโต๊ะกลม: “การปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล: หลักการและปฏิบัติ”
ผู้ร่วมเสวนา: ดร. นคร เสรีรักษ์, คุณวันฉัตร ผดุงรัตน์, คุณไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ,
ท่านนันทน อินทนนท์
ผู้ดำเนินการอภิปราย: ผศ. ดร. กฤษณา กิติยาดิศัย

๑๕.๐๐ – ๑๕.๑๕ พัก กาแฟ/น้ำชา/อาหารว่าง

๑๕.๑๕ – ๑๖.๓๐ เสวนา (ต่อ) และอภิปราย

สนใจแจ้งความจำนงได้ที่ รศ. ดร. โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์ โทร. 02 218 4756 หรือ 02 218 4755 แฟกซ์ 02 218 4755 ไม่เก็บค่าลงทะเบียน

Sunday, June 08, 2008

บล๊อกวิชาปรัชญาภาษา

ผมได้เปิดบล๊อกใหม่ซึ่งเป็นของรายวิชาปรัชญาภาษา ภาคการศึกษาต้น 2551 ที่

http://philoflanguage.wordpress.com/

ท่านที่สนใจสามารถเข้าไปดูได้ครับ