Wednesday, May 16, 2007

การบังคับใช้สิทธิโดยรัฐ: มีทางเลือกอื่นอีกหรือไม่?

โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์
ศูนย์จริยธรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ปัญหาการบังคับใช้สิทธิโดยรัฐ (compulsory licensing) หรือซีแอลของยาหลายตัว ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขประกาศออกไป ได้ก่อให้เกิดผลกระทบอย่างกว้างขวาง และได้กลายเป็นเหตุการณ์สำคัญระดับโลกหลายฝ่ายต่างก็ให้ความสนใจ และเป็นอีกครั้งหนึ่ง (นอกจากกรณีปิดเว็บไซต์ยูทูบ) ที่ประเทศไทยอยู่ในจอเรดาร์ของชาวโลก ในกรณีนี้ ทั่วโลกต่างก็จับตามองอยู่ว่า คุ่กรณีทั้งสองฝ่ายอันได้แก่กระทรวงสาธารณสุขกับบริษัทยายักษ์ใหญ่ของสหรัฐ-ยุโรปนั้น ฝ่ายใดจะกระพริบตาก่อนกัน
หากจะสรุปเรื่องนี้ให้ได้ในเนื้อที่ของบทความ ก็พอจะได้ว่า การใช้สิทธิโดยรัฐนั้นเป็นมาตรการที่กฎระเบียบระหว่างประเทศสามารถยอมให้ทำได้ โดยให้รัฐบาลของประเทศที่จะใช้สิทธิดังกล่าว เป็นผู้มีอำนาจออกประกาศใช้สิทธินี้ อย่างไรก็ตาม การประกาศนี้ก็จะต้องมีเงื่อนไขบางประการ เช่นจะต้องเป็นเหตุการณ์ที่เป็นเหตุผลเพียงพอที่จะทำให้รัฐบาลที่เกี่ยวข้อง จำเป็นต้องออกประกาศบังคับเพื่อประโยชน์ของการดูแลสุขภาพของผู้คนประเทศของตน นอกจากนี้ก็ยังต้องจ่ายค่าสิทธิบัตรจำนวนหนึ่งให้แก่เจ้าของสิทธิบัตร และที่สำคัญก็คือต้องมีการเจรจาที่โปร่งใสกับผู้ผลิตยาเจ้าของสิทธิบัตรเพื่อหาราคายาที่เหมาะสมอีกด้วย (voluntary licensing)
ในบทความนี้เราจะไม่ลงไปสืบสาวในข้อเท็จจริงว่า การประกาศบังคับใช้สิทธิโดยรัฐของกระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่ระบุไว้ใน Declaration on the TRIPS Agreement and Public Health (ดูได้ที่ http://www.wto.org/English/thewto_e/minist_e/min01_e/mindecl_trips_e.htm) ประการใดหรือไม่ เพราะยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ระหว่างกระทรวงกับบริษัทยา แต่เราจะมาดูกันว่า ในการแก้ปัญหาของกระทรวงสาธารณสุขนั้น ยังมีช่องทางอื่นที่เหมาะสมมากกว่าการประกาศเช่นนี้หรือไม่ ซึ่งหากมีแล้ว กระทรวงฯก็สามารถจะบรรลุถึงเป้าหมายในการดูแลสุขภาพของผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับยาเหล่านี้ และก่อไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้งอันเป็นจุดสนใจไปทั่วโลกอยู่ในขณะนี้
หนทางหนึ่งที่ทำได้ก็คือการเจรจากับบริษัทยาเพื่อขอ voluntary licensing หรือการใช้สิทธิตามสิทธิบัตร (ไม่ใช่เหนือสิทธิบัตร) แต่ในขณะนี้ขั้นตอนนี้ได้ผ่านพ้นไปแล้ว เราจึงต้องมองหามาตรการอื่น จุดหมายของเรื่องนี้ก็คือว่า สถานการณ์ที่เป็นอยู่เวลานี้เป็นการเผชิญหน้าโดยตรงระหว่างกระทรวงฯกับบริษัทยา และตัวแทนเช่น usaforinnovation.org ซึ่งหากปล่อยให้เป็นแบบนี้ก็เชื่อได้ว่าไม่เป็นผลดีแก่ประเทศไทยในระยะยาว
จากการสังเกตสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นนี้ เชื่อได้ว่า คงไม่มีฝ่ายใดยอมอ่อนข้อให้อีกฝ่ายหนึ่งแน่นอน เพราะต่างฝ่ายต่างก็เชื่อมั่นในความถูกต้องของตน ฝ่ายกระทรวงฯเชื่อว่า สิ่งที่ตนทำไปเป็นมาตรการที่จำเป็นในการดูแลสุขภาพของผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับยาเหล่านี้ และบริษัทยาข้ามชาติเป็นฝ่ายเอาแต่ได้ ไม่คำนึงถึงชีวิตของผู้ป่วยตาดำๆ แต่ฝ่าย usaforinnovation.org ก็อ้างว่า การประกาศซีแอลของไทยเป็นการทำไปโดยหวังผลประโยชน์ส่วนตน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นการหากำไรให้แก่องค์การเภสัชกรรม การกล่าวหากันไปมาเช่นนี้ไม่ก่อประโยชน์แก่ฝ่ายใด ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายบริษัทยาหรือกระทรวง ดังนั้นปัญหาก็คือว่า มีทางออกที่จะให้ทุกฝ่ายพอใจหรือไม่
เนื่องจากข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้ที่เป็นกลางและไม่ได้มาจากฝ่ายที่มีส่วนได้เสียนั้น หาได้ยาก เราจึงจำเป็นต้องเริ่มจากภาพรวมที่เป็นที่รับรู้กันทั่วไป ข้อแรกก็คือว่า กระทรวงสาธารณสุขหรือรัฐบาลไทยได้ทำทุกอย่างในอำนาจของตนเอง เพื่อหลีกเลี่ยงการประกาศซีแอลหรือไม่ จากที่สังเกตดูจากภายนอกดูราวกับว่า กระทรวงฯยังไม่ได้ทำทุกทางที่ทำได้ ประการแรก รัฐบาลสามารถเพิ่มงบประมาณเพื่อให้สามารถจ่ายราคายาที่จำเป็นเหล่านี้ได้ นอกจากนี้ยังควรจะมีมาตรการป้องกันผู้คนไม่ให้เป็นโรคติดต่อเช่นเอดส์ที่มีประสิทธิภาพ และควรทุ่มงบประมาณในด้านการป้องกันโรคให้มากกว่าที่เป็นอยู่ ทั้งนี้เพื่อมิให้ต้องมีผู้ป่วยโรคเอดส์หรือโรคอื่นๆให้มาเป็นภาระ จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขเอง บอกว่าจำนวนผู้ป่วยเอดส์ที่ได้รับยามีจำนวนน้อยกว่าผู้ป่วยทั้งหมดอยู่มาก ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ ก็แสดงว่า หากยาที่ผู้ป่วยเหล่านี้รับอยู่เป็นยาราคาถูกหลังจากผ่านซีแอล ก็แปลว่าแม้จะเป็นยาราคาถูกก็ยังครอบคลุมผู้ป่วยไม่ได้หมด แต่หากเป็นยาตามสิทธิบัตร เนื่องจากอัตราส่วนผู้ได้รับยาต่อผู้ป่วยทั้งหมดต่างกันมาก ก็ไม่มั่นใจว่าหากลดราคายามาตามมาตรการซีแอล ผู้ป่วยทั้งหมดจะได้รับยาหรือไม่ หนทางที่ถูกต้องจึงน่าจะเป็นการที่กระทรวงฯกับตัวแทนบริษัทยาไว้วางใจซึ่งกันและกัน ซึ่งจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีการนั่งโต๊ะพูดคุยเจรจากันโดยไม่มีวาระที่ต่างฝ่ายต่างมุ่งเอาให้ได้ และไม่มุ่งเอาชนะกัน แต่มาร่วมกันแก้ปัญหาว่าทำอย่างไรจึงจะเกิดประโยชน์แก่ผู้ป่วยที่ต้องได้รับยาให้ได้มากที่สุด
อีกประการหนึ่ง การบังคับสิทธิโดยรัฐควรจะเป็นมาตรการที่ประกาศเป็นการชั่วคราว เช่นมีภัยพิบัติเกิดขึ้น มีคนจำนวนมากต้องได้รับยาอย่างรีบด่วน ซึ่งเมื่อภัยพิบัตินั้นผ่านไป ก็กลับมาสู่สถานะเดิม แต่สถานการณ์ผู้ป่วยเอดส์หรือโรคหัวใจในประเทศไทย ดูไม่น่าจะเป็นภัยพิบัติแบบนี้ เพราะเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องยาวนาน ดังนั้น ฝ่ายเจ้าของสิทธิบัตรจึงไม่มั่นใจว่า การประกาศซีแอลของกระทรวงฯ จะเป็นมาตรการเพื่อคุ้มครองชั่วคราว หรือจะกลายเป็นมาตรการถาวรไป หรืออาจจะกลายเป็นมาตรการที่ใช้เป็นประจำ กระทรวงสาธารณสุขจำเป็นที่จะต้องชี้แจงประเด็นนี้ได้กระจ่าง
นอกจากนี้ การประกาศซีแอลยังเป็นการส่งสัญญาณออกไปว่า ประเทศไทยไม่ให้ความสำคัญแก่ทรัพย์สินทางปัญญาเท่าที่ควร การเสนอเช่นนี้ไม่ใช่เป็นการปกป้องผลประโยชน์ของประเทศใหญ่ๆอย่างสหรัฐหรือยุโรป แต่เป็นการปกป้องผลประโยชน์ของคนไทยของเราเอง ซึ่งมีบริษัทไทยเป็นจำนวนมากที่ต้องอาศัยการบังคับใช้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาที่มีประสิทธิภาพ มิฉะนั้นแล้วก็ไม่อาจทำธุรกิจได้เต็มที่ เรานึกถึงค่ายเพลงอย่างเช่นแกรมมี่ อาร์เอส หรือบริษัทซอฟท์แวร์ของประเทศ ที่จะต้องสูญเสียผลประโยชน์ไป จากการที่ซีดีเพลงหรือซอฟท์แวร์ของตนถูกคัดลอกอย่างแพร่หลาย หรือบริษัทที่มีนวัตกรรมใหม่ๆ ที่จำเป็นต้องได้รับการคุ้มครองดูแล ซึ่งผลประโยชน์ทางธุรกิจเหล่านี้ก็มิใช่อะไรอื่น นอกจากส่วนสำคัญของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยเราเอง เราเชื่อว่า การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่มีประสิทธิภาพจะนำไปสู่ความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจของเราเอง ประเด็นก็คือว่า เราควรปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาของคนไทยเราเองหรือไม่ หากคำตอบคือใช่ ก็ปรากฏว่าการประกาศใช้ซีแอลนี้ ต้องชี้แจงให้ชัดเจนว่า ไม่ได้ส่งสัญญาณไปในทางที่แสดงว่าไม่เคารพต่อหลักการของการเคารพทรัพย์สินทางปัญญา
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การทำความเข้าใจเพื่อหาทางออกและแก้ปัญหาเกิดขึ้นได้จริง ทางฝ่ายบริษัทยาและตัวแทนก็จะต้องทำสิ่งที่เป็นรูปธรรมในฝ่ายของตนด้วย สิ่งที่ทำได้ในขณะนี้ก็คือ ลดราคายาสิทธิบัตรให้เท่ากับราคาที่ประกาศในคำประกาศซีแอล เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็จะเป็นการแสดงความจริงใจของบริษัทยาในการแก้ปัญหาของผู้ป่วย บริษัทยาต้องคำนึงว่า การทำธุรกิจให้ได้ยั่งยืนนั้นจำเป็นที่จะต้องได้รับความไว้วางใจ ไม่เฉพาะแต่ในประเทศของตนเท่านั้น แต่เนื่องจากปัจจุบันธุรกิจต่างก็เดินข้ามชาติ ก็จะต้องได้รับความไว้วางใจจากนานาประเทศด้วย การได้รับความไว้วางใจเช่นนี้ได้ ก็จะต้องมาจากการที่บริษัทยาแสดงให้เห็นว่า มุ่งที่จะช่วยเหลือคนไข้หรือผู้ป่วย ให้ได้รับบริการที่ดีที่สุดและยาที่ดีที่สุด ในราคาที่เป็นธรรมต่อทุกฝ่าย วิถีทางที่บริษัทยานานาชาติจะหลุดจากข้อกล่าวหาว่า "หน้าเลือด" หรือ "ไม่เห็นแก่มนุษยธรรม" ก็คือทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขของไทยอย่างใกล้ชิด เป็นเพื่อนร่วมงาน หรือ partner ซึ่งกันและกัน ไว้วางใจกันและกัน และเมื่อสถานการณ์ซีแอลปัจจุบันนี้ผ่านไป ก็จะสามารถเจรจากับกระทรวงฯหรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดทำ voluntary licensing ต่อไปในอนาคตได้ ในการทำ voluntary licensing นั้น จุดสำคัญอยู่ที่คำว่า voluntary ซึ่งแปลว่า "เป็นไปตามความสมัครใจ" นั่นคือบริษัทยาจะต้อง "สมัครใจ" ที่จะมองเห็นผลประโยชน์ของผู้ป่วยว่าสำคัญไม่แพ้ผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นของตนเอง และร่วมมือกับกระทรวงฯในการหาวิธีที่เหมาะสมที่สุด และเป็นวิธีที่ทุกฝ่ายยอมรับกันได้มากที่สุด เพื่อแก้ปัญหาสุขภาพ ซึ่งผลกระทบนี้จะไม่ได้เกิดแก่เฉพาะคนไทยเท่านั้น แต่ยังจะเกิดประโยชน์มหาศาลแก่ผู้คนทั้งโลกอีกด้วย