Saturday, June 09, 2007

Notes from Philadelphia (2)

บันทึกจากฟิลาเดลเฟีย (ต่อ)

ในขณะที่เขียนนี้กำลังอยู่ในเครื่องบินเดินทางจากดีทรอยท์มาที่โตเกียว ตอนขึ้นเครื่องที่ฟิลาเดลเฟียมีปัญหานิดหน่อย คือร้านขายต้ํวไปเขียนว่าวันกลับเป็นวันที่ 7 กรกฎา ไม่ใช่ 7 มิถุนา เราเองก็ไม่ได้สังเกต ปรากฏว่าโชคดีมีที่นั่งตลอดเส้นทางกลับบ้านในวันนี้ (7 มิถุนา) ไม่งั้นแย่แน่ๆ

นอกจากบเปเปอร์ของ Stephanie Brown แล้วก็มีอีกสองเปเปอร์ ได้แก่ของ Doug Olson กับอีกคนหนึ่งจำชื่อไม่ได้ Olson เป็นนักสาธารณสุขศาสตร์ที่ UC Berkeley ทำเกี่ยวกับบทบาทของการให้หรือการบริจาค ในฐานะที่เป็นตัวแปรหลักของการมีสุขภาพดีของประชากร น่าสนใจมากๆ เอาไว้จะหา reference มาลงในนี้ ส่วนอีกคนหนึ่งที่จำชื่อไม่ได้เป็นนักชีววิทยา บทความของเขาเป็นการศึกษาเกี่ยวกับบทบาทของกลุ่มประชากรที่ทำความดี กับการอยู่รอดหรือประสบความสำเร็จในฐานะประชาการทางชีววิทยา โดยถามว่ามีตัวแปรอะไรบ้างที่ควบคุมความสำเร็จนั้นๆ เหตุที่มีคำถามเช่นนี้ก็เพราะว่า ในหลายกรณีเรามักพบว่าคนที่ทำความดีมักจะไม่ประสบความสำเร็จ เช่น เรามีคำพูดว่าคนดีมักตายเร็ว หรือคนดีมักถูกเอารัดเอาเปรียบ โจทย์ของนักชีววิทยาคนนี้อยู่ที่ว่า ในสภาพแวดล้อมแบบไหนที่คนดีจะประสบความสำเร็จ (ความสำเร็จในสายตาของนักชีววิทยาวิวัฒนาการ หมายถึงการที่ประชาการสามารถอยู่รอด สืบพันธุ์ออกลูกหลานต่อไปอีกได้) คำถามของเขาที่เขาชอบยกมาให้นักศึกษาตอบก็คือว่า หากมีคนติดเกาะร้างอยู่สองคน คนหนึ่งเป็นคนดี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ฯลฯ ส่วนอีกคนหนึ่งเป็นคนเลวสุดๆ โหดร้าย เห็นแก่ตัวอย่างร้ายกาจ ถามว่าใครจะอยู่รอด? คำตอบก็ไม่เป็นที่สงสัย เพราะคนเลวจะฆ่าคนดีตายเสียตั้งแต่ต้น อีกโจทย์หนึ่งถามว่า หากมีเกาะอยู่สองเกาะ เกาะหนึ่งมีคนเลวอยุ่ด้วยกันจำนวนหนึ่ง และมีแต่คนเลวเท่านั้น ส่วนอีกเกาะหนึ่งมีแต่คนดีอยู่ด้วยกันเป็นจำนวนเท่าๆกัน ถามว่าเกาะไหนจะเจริญรุ่งเรืองมากกว่ากัน คำตอบก็ชัดเจนเช่นเดียวกันว่า เกาะที่มีคนดีอยู่จะเจริญรุ่งเรือง เพราะคนดีจะช่วยกันทำงาน แบ่งปันซึ่งกันและกัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ทำให้ทั้งเกาะเจริญ ส่วนเกาะของคนเลว เป็นไปได้ว่าจะไม่มีใครเหลือเลยในเวลาไม่นาน เพราะฆ่ากันเองหมด ที่เหลืออยู่ก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะมีอยู่คนเดียว
ทีนี้มีอีกคำถามหนึ่ง ถามว่า หากมีคนเลวหนึ่งคน แอบพายเรือไปที่เกาะคนดี แล้วจะเกิดอะไรขึ้น? ปรากฏว่าปัญหานี้ยากเกินกว่าจะตอบง่ายๆได้ ผู้บรรยายก็เลยค้างเอาไว้เป็นปริศนาเสียอย่างนั้น ข้อสรุปของตัวอย่างก็คือว่า การเป็นคนดีมีผลดีต่อกลุ่มของประชากร แม้ว่าอาจจะไม่มีผลดีแก่ประชากรผู้เป็นคนดีแต่ละคน แต่การเป็นคนเลวอาจมีผลดีต่อประชากรหนึ่งคนในระยะสั้น แต่ไม่เป็นผลดีในระยะยาว นอกจากนี้เขาก็ยกอีกตัวอย่างหนึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเลี้ยงไก่ คำถามมีอยู่ว่า หากจะปรับปรุงพันธุ์ไก่ออกไข่ วิธีใดจะดีกว่ากัน ระหว่างเอาแม่ไก่ที่ออกไข่เก่งที่สุดในแต่ละเล้ามาเลี้ยงร่วมกัน หรือว่าเเลือกอาไก่เล้าที่มีค่าเฉลี่ยออกไข่ดีที่สุดออกมา คำตอบก็คือว่าไก่ที่เลือกเอามาจากแต่ละเล้าที่เป็นตัวที่เก่งที่สุดในเล้าของตัวเองนั้น เมื่อเอามาเลี้ยงรวมกัน กลับจิกกันเองจนขนหลุดหมดทั้งตัว ทั้งเล้าตายไปเกือบหมดเหลืออยู่แค่สามตัว ซึ่งแต่ละตัวก็ไม่ค่อยจะมีขนเหลืออยู่แล้ว ที่เป็นแบบนี้ก็เพราะว่า แม่ไก่ที่ออกไข่เก่งที่สุดในแต่ละเล้านั้น ออกได้มากเพราะไปจิกตัวอื่นๆบังคับไม่ให้ตัวอื่นๆออกไข่ให้ได้เท่ากับตัวเอง ดังนั้นแม่ไก่ที่ออกไข่เก่งที่สุดในเล้า จึงเป็นตัวที่ก้าวร้าวที่สุด เมื่อเอาแม่ไก่ก้าวร้าวแบบนี้มาอยู่รวมกัน ก็เลยจิกกันใหญ่ ผลที่ได้จึงเป็นตรงกันข้าม แทนที่แม่ไก่แต่ละตัวจะออกไข่ทำให้เล้าที่เลือกไก่เหล่านี้มามีผลผลิตโดยรวมสูงขึ้น กลับเป็นตรงกันข้าม ส่วนไก่ที่เลือกมาทั้งกลุ่มนั้น ปรากฏว่าออกไข่ได้ดี สุขภาพแข็งแรง ซึ่งสรุปได้ว่าการเป็นคนดีหรือการเอื้อเฟื้อให้แก่กลุ่มนั้น ให้ผลดีแก่ทั้งกลุ่มโดยรวม
บทความที่เสนอในงานที่นอกจากนี้ก็มี เรื่องเกี่ยวกับมโนทัศน์ transdisciplinarity ในตอนแรกไม่รู้จะแปลยังไง ตอนนี้ก็ยังไม่รู้ เอาเป็นว่าคำๆนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับการสร้างวิชาการที่รวมเอาแนวคิดหรือผลการศึกษาของวิชาการสาขาต่างๆเข้าด้วยกัน โดยไม่คำนึงถึงความเป็นศาสตร์หรือวิชาการสาขาที่มารวมกัน โดยถือเป็นการเกิดใหม่ของวิชาการแขนงใหม่จากการรวมตัวกันของวิชาการที่มารวมกันนั้นๆ คำๆนี้ต่างจาก interdisciplinarity ที่หมายถึงการทำงานร่วมกันของวิชาการสาขาต่างๆเท่านั้น เนื่องจากการประชุมครั้งนี้เน้นหนักที่ transdisciplinarity จึงมีหลายบทความที่เสนอทฤษฎีที่อธิบายว่าการศึกษาแบบ transdisciplinary เป็นไปได้อย่างไร