Thursday, June 07, 2007

Notes from Philadelphia

บันทึกจากฟิลาเดลเฟีย

วันนี้เป็นวันสุดท้ายที่จะอยู่ที่ฟิลาเดลเฟียหลังจากที่เดินทางมาประชุมตั้งแต่คืนวันเสาร์ พรุ่งนี้ (วันพฤหัส) ก็จะเดินทางกลับกรุงเทพแล้ว การประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมประจำปีของ Metanexus Institute (www.metanexus.net/conference2007/) ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรที่มุ่งส่งเสริมสนับสนุนการศึกษาวิจับทางด้านวิทยาศาสตร์และศาสนา เหตุที่มาครั้งนี้ก็เพราะว่า องค์กร Metanexus เชิญมาเนื่องจากกลุ่มสนทนาพระพุทธศาสนาวิทยาศาสตร์พันดาราได้รับการสนับสนุนจากองค์กรนี้ ซึ่งเป็นประโยชน์มากเพราะเป็นการส่งเสริมการศึกษาและการสนทนาแลกเปลี่ยน เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาและวิทยาศาสตร์ในด้านต่างๆ ปีนี้ก็เป็นปีที่สามของโครงการแล้ว ซึ่งเป็นปีสุดท้าย

ในวันเสาร์ (2 มิ.ย.) มาถึงฟิลาเดลเฟียช้าไปหน่อย เพราะเครื่องบินดีเลย์เนื่องจากฝนตกหนักที่ดีทรอยต์ ก็เลยพลาดฟังการบรรยาย keynote ของ Philip Clayton เกี่ยวกับ "Disciplining the Transdisciplinarity" อย่างไรก็ตาม ทาง Metanexus ก็ได้อัพโหลดการบรรยายนี้บน iTunes แล้ว (เปิดโปรแกรม iTunes แล้วพิมพ์ "metanexus" ที่ช่อง search) Philip Clayton เป็นนักวิชาการที่มีชื่อเสียงมากเกี่ยวกับศาสนากับวิทยาศาสตร์ เสียดายพอสมควรที่ไม่ได้ฟัง แต่ว่างๆก็จะดาวน์โหลดการบรรยายจาก iTunes

การประชุมนี้มีหัวข้อว่า "Transdisciplinarity and the Unity of Knowledge: Beyond the Science and Religion Dialogue" ซึ่งไม่รู้จะแปลเป็นไทยว่าอย่างไร โดยเฉพาะคำว่า transdisciplinarity ในวันอาทิตย์ (3 มิถุนายน) ได้รับเชิญจาก Erika Vinskie ซึ่งเป็น staff คนหนึ่งของ Metanexus ให้ขึ้นไปอ่านบทสวดจากพระพุทธศาสนาในรายการ interfaith readings and reflections ซึ่งเป็นรายการแรกของเช้าวันอาทิตย์ รายการนี้เป็นประเพณีของ Metanexus ซึ่งจัดมาทุกปี เราเลือกอ่านจากบทที่สามของ "วิถีชีวิตของพระโพธิสัตว์" ของท่านศานติเทวะ ซึ่งเหมาะกับบรรยากาศในงานมาก เพราะเน้นที่สันติภาพของโลก และความเมตตากรุณา ในรายการมีร้องเพลงเกี่ยวกับความรักความกรุณาด้วย ประทับใจจนน้ำตาเกือบไหล คิดว่าถ้าเกิดเป็นชาวคริสต์ ก็คงเป็นชาวคริสต์ที่เคร่งครัด รักพระเจ้าเหมือนๆกับที่เป็นชาวพุทธอยู่ตอนนี้

โปรแกรมสำคัญในวันอาทิตย์มีงานเปิดตัวหนังสือเรื่อง Why Good Things Happen to Good People ของ Stephen Post จาก Case Western Reserve University โอไฮโอ ประเด็นหลักของหนังสือเล่มนี้อยู่ที่ว่า Post ได้รวบรวมงานวิจัยทาง empirical ไว้จำนวนมาก ที่แสดงว่าการเป็นผู้มีใจดีเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ให้แก่ผู้อื่น รวมทั้งการให้การบริจาคสิ่งต่างๆให้แก่คนอื่นจริงๆ ก่อให้เกิดผลดีมากๆแก่ตัวผู้ให้เอง เช่น อายุยืนยาวมากกว่า อัตราการเสียชีวิตจากโรคเช่นโรคหัวใจ เส้นเลือดในสมองตีบ ฯลฯ น้อยกว่าคนที่ไม่ให้ทานแก่คนอื่นอย่างมีนัยสำคัญเห็นได้ชัด Stephanie Brown ซึ่งร่วมทีมวิจัยกับ Post เป็นหมอ internal medicine ที่มหาวิทยาลัยมิชิแกน แอนอาร์เบอร์ รายงานว่า ผู้ที่ให้สิ่งต่างๆ หรือให้แรงงานด้วยการเป็นอาสาสมัครในกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ มีอัตราอายุยืนยาว กับเป็นโรคต่างๆน้อยกว่าคนที่ไม่ได้ให้ และที่สำคัญก็คือมีอัตราสูงกว่าผู้ที่รับบริจาคด้วย ซึ่งน่าสนใจมาก คงจะต้องชวนใครๆที่สนใจในเมืองไทย ให้ทำวิจัยทำนองนี้ เพื่อดูว่าในบริบทของไทยเป็นแบบนี้เหมือนกันหรือเปล่า

ที่น่าสังเกตก็คือว่า Post กับทีมงานทำงานภายใต้บริบทของความรักแบบในศาสนาคริสต์ หรือในประเพณีความคิดแบบกรีกที่เรียกว่า "agape" ซึ่งแปลว่า ความรักของที่มีต่อเพื่อนมนุษย์อย่างไม่มีประมาณ" หรือ "ความรักที่ไม่มีตัวตนของผู้รักมาเกี่ยวข้อง" ซึ่งตรงกับความเมตตากรุณาของพระพุทธศาสนามาก เรื่องนี้ก็เข้าใจได้เพราะทุกคนในทีมงานของ Post เป็นชาวคริสต์ทั้งสิ้น ซึ่งก็ยิ่งทำให้น่าสนใจมากขึ้นว่า ในบริบทของสังคมพุทธแบบเมืองไทย ผลของการวิจัยแบบนี้จะเป็นอย่างไร