Tuesday, May 27, 2008

การเพิ่มขีดความสามารถของมนุษย์กับพระพุทธศาสนา

การประชุมเสวนา
"การเพิ่มขีดความสามารถของมนุษย์กับพระพุทธศาสนา"
(Human Enhancement and Buddhism)


วันศุกร์ที่ ๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๑ เวลา ๑๓.๐๐ - ๑๕.๓๐ น.
ห้อง ๗๐๘ อาคารบรมราชกุมารี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

จัดโดยภาควิชาปรัชญาและศูนย์จริยธรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ในปัจจุบันการใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของมนุษย์ได้มีการพัฒนาขึ้นอย่างกว้างขวาง การเพิ่มขีดความสามารถของมนุษย์นี้หมายถึงการทำให้ความสามารถด้านต่างๆของมนุษย์มีมากขึ้น ซึ่งที่มีใช้กันแพร่หลายก็มีเช่น การใช้ยาเพื่อเพิ่มพลังของนักกีฬา นอกจากนี้ ก็ยังการทำให้ร่างกายของมนุษย์สวยงามขึ้น ซึ่งก็รวมอยู่ในเรื่องการเพิ่มความสามารถของมนุษย์นี้ด้วย การทำให้ร่างกายสวยงามขึ้นด้วยการใช้เทคโนโลยี ก็มีเช่น การผ่าตัดทางศัลยกรรมตกแต่ง การใช้ยาเพื่อทำให้ร่างกายมีกล้ามเนื้อสมบูรณ์ขึ้น เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีในขณะนี้สามารถทำให้ความสามารถของมนุษย์เพิ่มขึ้นมากไปกว่าที่เป็นอยู่ เช่นการผ่าตัดศัลยกรรมหรือการใช้ยาอย่างมากมาย ซึ่งการพัฒนาใหม่ๆเหล่านี้เป็นผลพวงของการพัฒนาทางด้านนาโนเทคโนโลยี ซึ่งเป็นการผลิตอุปกรณ์และเครื่องมือในระดับความกว้างความยาวของอะตอม ตัวอย่างการพัฒนาทางด้านนี้ก็มีเช่น มีการพัฒนาการเพิ่มความสามารถในการจำของมนุษย์ ด้วยการฝังชิปคอมพิวเตอร์ลงไปในร่างกาย เพื่อให้ทำงานร่วมกับสมอง เพื่อทำให้สมองสามารถจดจำข้อความและเรื่องราวต่างๆได้มากขึ้น หรือช่วยให้สมองประมวลผลข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น อันจะยังผลให้ผู้ที่เป็นเจ้าของสมองนั้นสามาาถคิดได้รวดเร็วมากเท่าๆกับคอมพิวเตอร์ ยิ่งไปกว่านั้นก็มีการพัฒนาอุปกรณ์ช่วยในการมอง ที่เมื่อฝังลงไปแล้ว ก็จะช่วยให้คนตาบอดมองเห็น หรือคนหูหนวกได้ยินเสียง และก็เป็นไปได้ว่าอุปกรณ์เช่นนี้จะสามารถทำให้มองเห็นช่วงความถี่ที่คนทั่วไปมองเห็นไม่ได้ เช่นคลื่นอินฟราเรด ซึ่งจะทำให้มองเห็นในที่มืดได้ หรือทำให้ได้ยินเสียงที่สูงหรือต่ำมากเกินกว่าความสามารถของหูมนุษย์ทั่วไปได้

การเพิ่มขีดความสามารถของมนุษย์ด้วยเทคโนโลยีเช่นนี้ ทำให้เกิดปัญหาทางจริยธรรมต่างๆมากมาย เช่น การเพิ่มขีดความสามารถดังกล่าวเป็นการกระทำที่ถูกหลักจริยธรรมหรือไม่ ตัวอย่างเช่น การที่คนๆหนึ่งเพิ่มความสามารถทางร่างกายของตนเองด้วยเทคโนโลยีนี้ ซึ่งทำให้เขามีกำลังกายมากกว่าคนธรรมดาๆหลายเท่า เป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่ และก็มีปัญหาอื่นๆ เช่น หากมีการเพิ่มความสามารถเช่นนี้จริง จะทำให้เกิดมีคนสองประเภทหรือไม่ ได้แก่กลุ่มที่ได้รับการเพิ่มความสามารถและกลุ่มที่ไม่ได้เพิ่ม ปัญหาเหล่านี้ควรจะได้รับการพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วน

ยิ่งไปกว่านั้น เนื่องจากสังคมไทยเป็นสังคมพุทธเป็นส่วนใหญ่ การพิจารณาว่าพระพุทธศาสนามีทรรศนะหรือท่าทีเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไรก็เป็นเรื่องสำคัญ ด้วยเหตุนี้จึงได้จัดการประชุมนี้ขึ้น ปัญหาเกี่ยวกับการเพิ่มความสามารถที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาก็มีเช่น พระพุทธศาสนาจะมีทรรศนะอย่างไรเกี่ยวกับการเพิ่มขีดความสามารถของมนุษย์ที่ทำให้มนุษย์มองเห็นได้ในที่มืด หรือมีกำลังกายมากกว่าคนทั่วไป หรือมีความสามารถในการคิดและประมวลผลข้อมูลจำนวนมากอย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกับคอมพิวเตอร์ นอกจากนี้ก็ยังมีปัญหาเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาเอง เช่น การที่คนๆหนึ่งจะใช้เทคโนโลยีเพิ่มความสามารถเช่นนี้ เพื่อให้ตนเองปฏิบัติสมาธิได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น จะเป็นการถูกต้องหรือไม่ หากมีการพัฒนายาแบบหนึ่ง ซึ่งทำให้การปฏิบัติสมาธิหรือเข้าฌานให้ได้ผลตามที่บัญญัติไว้ในคัมภีร์ ซึ่งตามปกติอาจจะต้องใช้เวลายาวนาน กลายเป็นการปฏิบัติที่ใช้เวลาเพียงเล็กน้อย และหากมียาที่ทำให้ผลของการปฏิบัติธรรมเกิดขึ้นได้รวดเร็วเช่นนี้ การพัฒนายากับการกินยานี้เพื่อการปฏิบัติจะเป็นการกระทำที่ถูกต้องตามหลักของพระพุทธศาสนาหรือไม่ การเพิ่มความสามารถเช่นนี้ดูเหมือนว่าจะเป็นการพัฒนา "ตาทิพย์" หรือ "หูทิพย์" ให้เป็นได้จริง การกระทำเช่นนี้ถูกต้องหรือไม่ การประชุมนี้จะพิจารณาปัญหาเหล่านี้รวมทั้งปัญหาอื่นๆ

วิทยากร
รศ. ดร. สมภาร พรมทา
รศ. ดร. โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์

กำหนดการ
๑๓.๐๐ – ๑๓.๔๕ “ปัญหาทางจริยธรรมของการเพิ่มขีดความสามารถของมนุษย์”
รศ. ดร. โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์
๑๓.๔๕ – ๑๔.๓๐ “ทรรศนะของพระพุทธศาสนาเกี่ยวกับการเพิ่มขีดความสามารถของมนุษย์”
รศ. ดร. สมภาร พรมทา
๑๔.๓๐ – ๑๔.๕๐ พัก (น้ำชา/กาแฟ/ของว่าง)
๑๔.๕๐ – ๑๕.๓๐ อภิปรายทั่วไป

ลงทะเบียนฟรี